ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชิญภาคเอกชนคู่ค้าสำคัญหารือแจ้งความคืบหน้า ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย

3062
30.11.58

          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนและนักลงทุนต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ได้แก่ กรมศุลกากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าร่วมเพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าการพัฒนากฎหมายและสถานการณ์ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2558 ณ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้นักลงทุนและคู่ค้าสำคัญของไทยเข้าใจการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐของไทยเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่ดีในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
 
          กรมฯ ได้ใช้โอกาสนี้แจ้งความคืบหน้าด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้นักลงทุนต่างประเทศได้รับทราบ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เพิ่มประเด็นเรื่องการห้ามแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์และเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว การให้ข้อมูลสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2558 (ม.ค – ส.ค) ที่ได้รับการรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีผลการจับกุมรวม 5,913 คดี ยึดของกลางได้ 2,918,973 ชิ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2557 โดยเฉลี่ยจับกุมได้ 7,164 คดี ยึดของกลางได้ 1,025,198 ชิ้น พบว่า มีคดีที่ลดลงร้อยละ 17.4 แต่มีจำนวนของกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 184.7 แสดงให้เห็นว่า ไทยมีการปราบปรามแหล่งเก็บสินค้าละเมิดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
          สำหรับประเด็นที่ภาคเอกชนต่างประเทศให้ความสนใจ ได้แก่ เรื่องการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางเว็บไซต์ต่างๆ และข้อจำกัดความรับผิดการให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) ซึ่งกรมฯ ได้แจ้งว่าเพื่อความรวดเร็วหากเจ้าของสิทธิพบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือประสานแจ้งข้อมูลมาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ช่วยประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โดยล่าสุดศาลได้สั่งให้ ISP จำนวน 8 ราย นำข้อมูลละเมิดฯ ออกจากเว็บไซต์ จำนวน 81 เว็บไซต์ ภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งศาล อย่างไรก็ดี ISP ดังกล่าวไม่สามารถเอาเว็บไซด์ละเมิดฯ ดังกล่าวออกจากระบบได้ เนื่องจากติดปัญหาทางเทคนิค ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้จัดประชุมหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
 
          เรื่องมาตรการในการเอาผิดกับผู้ละเมิดกรณีการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าซึ่งกรมฯ ได้ชี้แจง ว่าหากเป็นการนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของตน หรือสร้างข่าวแพร่หลายทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งการ “ปลอม” หรือ“เลียน”เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในประเทศไทย สามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้ละเมิดฯ ได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า หากไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศไทยแต่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศแล้ว ไทยก็ยังมีกฎหมายอาญามาตรา 272-275 ที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถดำเนินการกับผู้ละเมิดได้
 
          เรื่องมาตรการของกรมศุลกากรป้องกันการลักลอบขนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ข้ามแดนมายังไทย โดยเจ้าของสิทธิสามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าละเมิดฯ ให้กรมศุลกากรได้ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางเรือ อากาศ และไปรษณีย์ แต่ต้องยื่นขอจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อน ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะส่งข้อมูลให้กรมศุลกากร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเรียกตัวแทนสิทธิมาแสดงความเป็นเจ้าของสิทธิต่อไป
 
          อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่าการประชุมครั้งนี้ถือน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยกรมฯจะนำข้อมูลที่ได้รับไปวางแผนและดำเนินการให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นต่อไป

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

 


 facebook  instagram  youtube  twitter

สถิติผู้เข้าชมวันนี้ : 1248

สถิติผู้เข้าชมรวม : 10103909

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20Html5 LogoW3c Css
 
 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา