ทรัพย์สินทางปัญญาในเวทีต่างประเทศ

ทรัพย์สินทางปัญญาในเวทีต่างประเทศ

143670
14.09.59

ทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ

ทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ได้เริ่มต้นขึ้นจากการวางระบบโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ คือ

1. อนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม ค.ศ. 1883 (Paris Convention for the Protection of Industrial Property 1883)

2. อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม ค.ศ. 1886 (Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works 1886)

ภายหลังได้มีการก่อตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาจัดตั้ง WIPO ด้วย

 

ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาในระดับพหุภาคี

1. องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)ปัจจุบันมีสมาชิก 164 ประเทศ โดยประเทศสมาชิก WTO รวมทั้งประเทศไทย ต้องยอมรับและปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ความตกลง TRIPS Agreement) ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศสมาชิก WTO จะต้องดำเนินการ มีความครอบคลุมทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบ เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ความลับทางการค้า รวมทั้งประเด็นการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และมาตรการ ณ จุดผ่านแดน

2. องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เป็นหนึ่งในองค์กรชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมถึงการกำหนดแนวทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท และการอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรการออกแบบ

 

ประเด็นความร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญาทวิภาคี

กรมทรัพย์สินทางปัญญามีความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคีเพื่อการพัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการประสานความร่วมมือการดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นต้น โดยรูปแบบการดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน โดยกำหนดกิจกรรมที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญและประสงค์ให้เกิดความร่วมมือเพื่อร่วมกันดำเนินงาน

 

ประเด็นความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน

อาเซียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน ในฐานะเป็นเครื่องมือการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค โดยได้จัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ASEAN Working Group on Intellectual Property: AWGIPC) ซึ่งเป็นคณะทำงานระดับบริหารของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ดำเนินการจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกับระดับการพัฒนา และการให้ความสำคัญของอาเซียน คือ แผนปฏิบัติงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2568 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนในทุกด้าน ทั้งการจดทะเบียน ระบบกฎหมาย การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 

DIP Logoกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี  ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 อีเมล์ : saraban@ipthailand.go.th สายด่วน 1368 

chat-1

 


 facebook  instagram  youtube  twitter

จำนวนผู้ชม : 9961351

ipv6 ready W3C WIA AAA WCAG20

กรมทรัพย์สินทางปัญญา